การพัฒนาแอปพลิเคชัน Chatbot บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สำหรับงานบริการนิสิตและคณาจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
ผู้แต่ง:
จักรพันธ์ บุญเม่น , ทิพรัตน์ สิทธิวงศ์
Download: 193 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบทและคำถามที่เกิดขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากการจัดทำโครงการของนิสิตและคณาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา 2) เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน Chatbot บนอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับนิสิตและคณาจารย์ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้แอปพลิเคชัน Chatbot สำหรับนิสิตและคณาจารย์ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนิสิตและคณาจารย์ที่มีต่อแอปพลิเคชัน Chatbot กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นิสิตและคณาจารย์ โดยการเก็บรวมรวมข้อมูลแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แอปพลิเคชัน Chatbot 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยชุดกิจกรรมใช้งานแอปพลิเคชัน Chatbot 3) แบบสอบถามบริบทและคำถามที่เกิดขึ้นจากการจัดทำโครงการของภาควิชาฯ โดยสร้างแบบอัตนัยและปรนัยเพื่อสอบถามปัญหาและความต้องการของนิสิตและคณาจารย์ 4) แบบประเมินคุณภาพแอปพลิเคชัน Chatbot โดยผู้เชี่ยวชาญ 5) แบบสอบถามพึงพอใจของนิสิตและอาจารย์ที่มีต่อการใช้แอปพลิเคชันฯ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent ผลการวิจัย พบว่า 1) นิสิตและคณาจารย์ รู้กระบวนการเริ่มต้นการเขียนเพื่อพิจารณาอนุมัติ และมีระบบการติดตามกระบวนการเสนอโครงการ โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการอำนวยความสะดวก 2) แอปพลิเคชัน Chatbot มีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก (mean = 4.23, S.D. = 0.48) 3) นิสิตมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ Chatbot เคลื่อนที่หลังใช้สูงกว่าก่อนใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 4) ความพึงพอใจของนิสิตและคณาจารย์ที่มีต่อแอปพลิเคชัน Chatbot อยู่ในระดับมาก (mean = 4.34, S.D. = 0.55)
Download
|
การสำรวจความต้องการและความพึงพอใจต่อโปรแกรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริม การเรียนรู้แบบนำตนเองสำหรับแพทย์ในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขา/อนุสาขา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ผู้แต่ง:
รุ่งรัตน์ ผลสวัสดิ์
Download: 156 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบนำตนเองและศึกษาผลการใช้โปรแกรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบนำตนเองสำหรับแพทย์ประจำบ้านสาขาและอนุสาขา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นการวิจัยในขั้นต้นโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจด้วยการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน จำนวน 32 คน โดยใช้สถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ข้อมูล และการหาคุณภาพของเครื่องมือด้วยค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ผลการศึกษาพบว่า แพทย์ประจำบ้านมีความต้องการสื่อในการเรียนรู้ประเภทของสื่อดิจิทัล โดยมีความต้องการสื่อประเภทวิดีโอมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.50 รองลงมาเป็น สื่อประเภทข้อความ คิดเป็นร้อยละ 21.88 และ สื่อประเภทสื่อประสม คิดเป็นร้อยละ 18.75 ส่วนความต้องการโปรแกรมเรียนรู้ ในด้านรูปแบบการเรียนรู้ที่สนใจ พบว่า มีความต้องการรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 34.27 รองลงมาเป็นรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล คิดเป็นร้อยละ 25 และรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 21.87 สำหรับความพึงพอใจที่มีต่อการใช้งานแอปพลิเคชัน การเรียนรู้ด้วยตนเองของแพทย์ประจำบ้าน ในด้านภาพรวม พบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ส่วนในรายด้านพบว่า ด้านสื่อ มีคะแนนอยู่ในอันดับสูงที่สุด โดยมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการสืบค้นข้อมูล ด้านการเรียนรู้ ด้านการค้นคว้า และด้านการฝึกฝน มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เช่นกัน
Download
|
การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายใน สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้แต่ง:
กุลางกูร พัฒนเมธาดา, พรรณี ศรีเรือน
Download: 186 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายใน สถาบันวิจัย พหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) ประเมินผลระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายใน สถาบันวิจัย พหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของกระบวนการตรวจสอบภายในของสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้น ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายในที่ได้นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลของระบบ รวมถึงบูรณาการข้อมูลดิจิทัลกับระบบสารสนเทศอื่นของสถาบันฯ ทำให้ได้ระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายใน สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย 8 ประเด็นการตรวจสอบ ได้แก่ 1) การติดตามผลการตรวจสอบครั้งก่อน 2) การดำเนินงานด้านการรับ-นำส่งเงิน 3) การดำเนินงานด้านงานวิจัย 4) การดำเนินงานโครงการบริการวิชาการ 5) การดำเนินงานด้านการให้เช่าสถานที่/ค่าสาธารณูปโภค 6) รายงานกองทุนเงินส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยประจำปี 7) ผลการดำเนินงานตามคำรับรองกับมหาวิทยาลัย 8) การควบคุมภายในด้านการจ่ายเช็ค ผลที่ได้จากการประเมินคุณภาพของการจัดการข้อมูลสำหรับการตรวจสอบภายในโดยใช้ระบบงานเดิมและระบบงานที่พัฒนา พบว่า ระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายในสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยลดระยะเวลาจัดเตรียมเอกสารก่อนการตรวจสอบภายใน ลดจำนวนเอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบภายใน มีกระบวนการกำกับติดตามและควบคุมความเสี่ยง และสามารถตรวจสอบภายในผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้งานระบบสารสนเทศสำหรับการตรวจสอบภายใน มีความพึงพอใจต่อระบบโดยรวมระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66 และค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจมากที่สุด คือ ด้านความง่ายต่อการใช้งาน และด้านการใช้งานระบบโดยรวม รองลงมา คือ ด้านตรงตามความต้องการ ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และด้านประสิทธิภาพ
Download
|
สำรวจความรู้ ความเข้าใจระเบียบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของบุคลากรคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผู้แต่ง:
มธุรดา สิงสุธรรม , นิรมล จำนงศรี, ธัญญธร พัวพิทยาธร , อนันต์ แพงจันทร์, ลลิตตา หินเทา, ศศิธร เทียมมาลา
Download: 251 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สำรวจความรู้และความเข้าใจในระเบียบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ 2) เพื่อศึกษาปัญหาการจัดทำเอกสารเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของบุคลากรคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ บุคลากรสังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ปฏิบัติงานจริงในปีงบประมาณ 2566 จำนวนทั้งสิ้น 56 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 ข้อมูลสภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 แบบสอบถามความรู้และความเข้าใจในระเบียบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ตอนที่ 3 แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของการจัดทำเอกสารการเบิกจ่ายในการเดินทางไปราชการ และตอนที่ 4 ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับปัญหาการจัดทำเอกสารของผู้ตอบแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า บุคลากรส่วนใหญ่มีระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการอยู่ที่ระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.86 รองลงมามีระดับความรู้ความเข้าใจอยู่ที่ระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 39.29 มีระดับความรู้ความเข้าใจอยู่ที่ระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 17.86 ตามลำดับ และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจัดทำเอกสารเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ภาพรวมอยู่ที่ระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ( =4.33, S.D.=0.08) ส่วนข้อเสนอแนะพบว่าควรมีการสร้างคู่มือการเบิกค่าใช้จ่ายการเดินทางไปราชการเพื่อเป็นคู่มือให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อความถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ
Download
|
ความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้แต่ง:
นูรฮัม ฮะซา, พิภัตน์ เผ่าจินดา
Download: 327 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างปีพ.ศ. 2564-2566 2) เพื่อศึกษาความคาดหวังของผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility ระหว่างปีพ.ศ. 2564-2566 ต่อการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility จำนวน 14 โครงการย่อยที่จัดขึ้นระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 จำนวน 1,616 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งมีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 1 โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) ข้อมูลทั่วไปของผู้เข้าร่วม 2) ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมต่อการจัดโครงการ PSU Open Mobility และ 3) ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมต่อการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70.70 มีสถานภาพเป็นนักศึกษา ร้อยละ 89.99 มีช่วงอายุระหว่าง 18-23 ปี ร้อยละ 48.80 และมีระดับการศึกษาสูงสุด คือ ปริญญาตรี ร้อยละ 80.12 ซึ่งตรงตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ 2) ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมต่อการจัดโครงการ PSU Open Mobility มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564-2566 โดยมีค่าเฉลี่ยในปีพ.ศ. 2564 คือ (µ=4.51, σ=0.16) ในปีพ.ศ. 2565 คือ (µ=4.64, σ=0.18) และในปีพ.ศ. 2566 คือ (µ=4.64, σ=0.13) และ 3) ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมต่อการส่งเสริม ความเป็นนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอให้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมนานาชาติภายในมหาวิทยาลัยมากที่สุด ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2566 คิดเป็นร้อยละ 30.20 ในปีพ.ศ. 2564 ร้อยละ 23.88 ในปีพ.ศ. 2565 และร้อยละ 16.91 ในปี พ.ศ. 2566
Download
|
ความต้องการในการพัฒนาของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ มหาวิทยาลัยนครพนม
ผู้แต่ง:
พาทิศ คงโสมา, จิณัฐตา เพ็งอ่ำ, ชนน์วริศร์ ชยกรธนาวัชร์
Download: 193 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ 2) เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนาของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการ และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการในยุควิถีชีวิตใหม่ ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาการปฏิบัติงาน ได้แก่ ความรู้การวางแผน การวิเคราะห์งาน และการตัดสินใจ ความรู้ ความเข้าใจกระบวนการทำงานและทักษะในการปฏิบัติงาน ทักษะการศึกษาและค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและภารกิจของหน่วยงาน ความรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ และการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ความสามารถในการให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษาช่วยตัดสินใจหรือแก้ปัญหา แรงจูงใจหรือความพยายามสู่ความก้าวหน้าในวิชาชีพ ความรู้ ความเข้าใจต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ความต้องการพัฒนาการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก ได้แก่ แรงจูงใจหรือความพยายามสู่ความก้าวหน้าในวิชาชีพ ( = 4.19) ความรู้ ความเข้าใจและกระบวนการทำงาน และทักษะในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ( = 4.10) ความรู้การวางแผน การวิเคราะห์งาน และการตัดสินใจ ( = 4.04) ทักษะการศึกษาและค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ( = 4.04) ความรู้ ความเข้าใจต่อหน้าที่ในตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมาย ( = 4.00) ความรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ และการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ( = 3.99) ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ( = 3.94) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายและภารกิจของหน่วยงาน ( = 3.93) ความสามารถในการเขียนหนังสือราชการ ( = 3.77) แนวทางการพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนวิชาการในยุควิถีชีวิตใหม่ ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตผลงานทางวิชาชีพ การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานผ่านระบบออนไลน์ และการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม
Download
|
การศึกษาเทคนิคการสร้างเสียงภาษาไทยจากปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ผลิตสื่อมัลติมีเดีย
ผู้แต่ง:
กุลกานต์ สุทธิดารา, อลิษา แสงวิมาน, อาทิตยา บินฮาซัน
Download: 175 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence ) เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ซึ่งเทคโนโลยีการสร้างเสียงจากปัญญาประดิษฐ์ (Generate AI Voice) เป็นศาสตร์หนึ่งของ AI ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเสียงสังเคราะห์เลียนแบบเสียงพูดจริงของมนุษย์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและการทำงาน การสร้างเสียงจากปัญญาประดิษฐ์นั้นอาศัยเทคโนโลยี 2 ด้านหลัก คือ
(1) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP: Natural language processing) ร่วมกับ (2) เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงจากข้อความ (TTS: Text-to-Speech Synthesis) เพื่อแปลงข้อความจากตัวหนังสือให้เป็นเสียงพูดในภาษาต่าง ๆ ได้ โดยงานเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ใช้เสียงภาษาอังกฤษจาก AI ในงานผลิตสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งสามารถใช้แทนการอัดเสียงจากห้องสตูดิโอได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับการสร้างเสียงภาษาไทยจาก AI นั้นยังมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเสียงที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมชาติอยู่ เนื่องจากโครงสร้างทางภาษาไทยมีความซับซ้อนและไม่มีการเว้นช่องว่างระหว่างคำเหมือนภาษาอังกฤษ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคนิคการป้อนข้อความภาษาไทยในซอฟต์แวร์การสร้างเสียงจากปัญญาประดิษฐ์ (Generate AI Voice) ให้ได้เสียงพูดสังเคราะห์ที่แม่นยำและเป็นธรรมชาติ โดยมีกระบวนการ ดังนี้ 1) ศึกษารายละเอียดข้อมูลและวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการแปลงข้อความให้เป็นเสียงพูดเพื่อเลือกซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน และเนื้อหาที่ต้องการผลิตสื่อ 2) ทดลองป้อนเนื้อหาในซอฟต์แวร์ที่เลือกเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความถูกต้องของการออกเสียง และด้านความเป็นธรรมชาติของเสียง (จังหวะ ความเร็ว และการเว้นวรรค) ผลการศึกษาพบว่า จากการทดลองใช้เทคนิค ความถูกต้องของการออกเสียงและความเป็นธรรมชาติของเสียงดีขึ้นตามลำดับ ในการทดลองครั้งที่ 1 ความถูกต้องของการออกเสียงคิดเป็นร้อยละ 92 จนถึงครั้งที่ 30 คิดเป็นร้อยละ 100 และความเป็นธรรมชาติของเสียงปรับจากเสียงที่อ่านเร็วเกินไป และขาดจังหวะหายใจ มาเป็นเสียงที่จังหวะพอดีเข้ากับสื่อที่ผลิต ดังนั้นขั้นตอนการเตรียมพร้อมของข้อความก่อนที่จะป้อนลงซอฟต์แวร์เป็น สิ่งสำคัญ เช่น การเว้นวรรคคำใหม่ การใช้สัญลักษณ์พิเศษ การถอดอักษรเป็นคาราโอเกะสำหรับคำที่มีความซับซ้อนในการอ่าน โดยสามารถสรุปเป็นเทคนิคที่สำคัญในการการสร้างเสียงจาก AI เพื่อใช้ผลิตสื่อมัลติมีเดียได้ 8 ข้อ
Download
|
การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้แต่ง:
จุฑามาศ ทินกรวงศ์
Download: 161 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. พัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณสำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีประสิทธิภาพ 2. เพื่อเปรียบเทียบความรู้และความเข้าใจของบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนและหลังการศึกษาระบบบริหารจัดการงบประมาณ โดยใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แบบทดสอบก่อนและหลังการศึกษา และแบบความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเนื้อหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และการทดสอบค่า t-test ผลการศึกษาพบว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 92.66/100 เป็นไปตามสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้ คือ 90/ 90 และผู้ใช้งานมีคะแนนหลังการศึกษาในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ สูงกว่าคะแนนก่อนการศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
Download
|
ดูรายการทั้งหมด |