จริยธรรมการตีพิมพ์


 
 
จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ 
 
วารสารวิชาการ ปขมท. จัดทำขึ้นโดยที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ได้แก่ บทความวิชาการและบทความวิจัยของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อันเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันในหน่วยงานและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน วารสารวิชาการ ปขมท. จึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติและจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการและบทความวิจัย โดยได้กำหนดบทบาทสำหรับผู้นิพนธ์ (Author) บรรณาธิการวารสาร (Editor) และผู้ประเมินคุณภาพบทความ (Reviewer) โดยให้บุคคลดังกล่าวนี้ ศึกษาและปฏิบัติตามแนวทาง วิธีปฏิบัติและจริยธรรม การตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการและบทความวิจัยอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่าน นักวิชาการ และความเจริญก้าวหน้าในวงวิชาการต่อไป
 
 
 
1. บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ 
 
ผู้นิพนธ์บทความ (Authors) คือ เจ้าของบทความที่ส่งบทความวิชาการหรือบทความวิจัย เข้ามาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ปขมท. ซึ่งผู้นิพนธ์ต้องมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม และมีจรรยาบรรณในการวิจัย การดำเนินงาน และการรายงานผลการวิจัย ผู้นิพนธ์มีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
 
1.ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าบทความที่นิพนธ์ขึ้นนั้น ได้มาจากข้อเท็จจริงจากการศึกษา โดยไม่บิดเบือนข้อมูลและไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นการลอกเลียนผลงานวิชาการ (plagiarism) ทั้งของตนเองและผู้อื่นรวมทั้งมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นที่ปรากฏอยู่ในงานของตนอย่างถูกต้องและครบถ้วน
 
2. บทความที่นิพนธ์ขึ้นนั้นต้องไม่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อนหรือกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารที่ใด
 
3. ผู้นิพนธ์ต้องมีการระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของผลงานร่วมทุกคนอย่างชัดเจนในกรณีที่ไม่ได้เขียนคนเดียว
 
4. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารวิชาการ ปขมท. กำหนดไว้
 
5. ผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย หากผลงานนั้นมีแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย
 
6. ผู้นิพนธ์จะถูกตัดสิทธิการตีพิมพ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หากทำผิดข้อตกลงของวารสารวิชาการ
ปขมท. และจะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์สังกัดหรือผู้นิพนธ์แล้วแต่กรณี
 
 
 
2. บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร
 
บรรณาธิการ (Editor) มีหน้าที่ดำเนินงานในการจัดทำวารสารวิชาการ ปขมท.ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสารวิชาการ ปขมท. ตลอดจนควบคุม กำกับดูแล พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกบทความที่มีความเหมาะสมในการตีพิมพ์ และสรรหา คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถตรงกับสาขาของบทความนั้น ๆ เพื่อประเมินคุณภาพของบทความ จากนั้นสรุปคำแนะนำที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ส่งให้ผู้เขียนเพื่อปรับแก้ไขและตรวจสอบความถูกต้องของบทความ หลังจากปรับแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งก่อนตีพิมพ์และเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI) รวมทั้งปรับปรุง และพัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐานสากลอย่างสม่ำเสมอโดยบรรณาธิการมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
 
1.อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นิพนธ์ ผู้อ่าน ผู้ประเมินคุณภาพบทความและผู้ที่เกี่ยวข้อง
 
2. พิจารณาคัดเลือกบทความเพื่อเข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ ปขมท. โดยพิจารณาจากความสอดคล้องของเนื้อหากับแนวนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
 
3. ไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินคุณภาพบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในระหว่าง การประเมินบทความนั้น
 
4. ตรวจสอบบทความในด้านการลอกเลียนผลงานวิชาการ (plagiarism) ทั้งของตนเองและผู้อื่น โดยบรรณาธิการจะยุติกระบวนการประเมินคุณภาพบทความ หากพบว่ามีส่วนหนึ่งส่วนใดในบทความ มีการลอกเลียนผลงานวิชาการ (plagiarism) และหากบทความได้รับการเผยแพร่ไปแล้ว บรรณาธิการจะใช้สิทธิโดยการถอดถอนบทความและทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์สังกัดหรือผู้นิพนธ์แล้วแต่กรณี
 
5. ไม่ตีพิมพ์บทความในวารสารเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและจะปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาจากการแสวงหาผลประโยชน์และความต้องการทางธุรกิจ
 
 
 
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ 
 
ผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Review) ซึ่งเป็นผู้ประเมินคุณภาพของบทความวิชาการหรือบทความวิจัยของวารสารวิชาการ ปขมท. ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในสาขาวิชาการนั้น ๆ อาจจะมาจาก สายวิชาการและ/หรือสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา หรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันกับเนื้อหาในบทความทางวิชาการนั้น ๆ โดยดูความเหมาะสมของบทความที่จะตีพิมพ์ มีหน้าที่ประเมินคุณภาพของบทความ ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาบทความวิชาการและบทความวิจัยที่จะลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ปขมท. ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
 
1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับของผู้นิพนธ์บทความและผู้เกี่ยวข้องที่ส่งบทความมาเพื่อขอรับการประเมิน
 
2. ผู้ประเมินบทความจะไม่ประเมินบทความที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นอย่างอิสระได้
 
3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาการที่ตนมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลวิชาการรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
 
4. หากบทความที่ประเมินมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีความคล้าย ความเหมือนหรือความซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ และให้อยู่ในดุลพินิจของบรรณาธิการ
 

 




ระบบวารสาร

สมาชิก บรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ALL : 171,864
Today : 333
Online : 17

Copyright © 2019. All Rights Reserved By Council of University Administrative Staff of Thailand
Design By :Lanna Webdesign