เครื่องเก็บตัวอย่างแยกส่วนแบบอัตโนมัติ สำหรับเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง
ผู้แต่ง:
ทรงสุดา พรหมทอง, ฮัมดัน มะเซ็ง, อุทัย ไทยเจริญ, ก้องเกียรติ รักษ์วงศ์, สัตยา บุญรัตนชู
Download: 158 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้นำเสนอการพัฒนาเครื่องเก็บตัวอย่างแยกส่วนแบบอัตโนมัติสำหรับเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (HPLC Automatic Fraction Collector) การพัฒนาได้ออกแบบเครื่องเก็บตัวอย่างแบบถาดหมุนสามารถบรรจุขวดเก็บตัวอย่างได้สูงสุด 12 ขวด ความจุขวดละ 20 มิลลิลิตร โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ PIC18F252 เป็นตัวควบคุมสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต RS-232 อีกทั้งได้พัฒนาโปรแกรมส่วนติดต่อกับผู้ใช้งานเพื่อใช้ควบคุมการทำงานและกำหนดค่าการเก็บตัวอย่างในรูปแบบกราฟิก (Graphic User Interface) ทำให้สะดวกต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก ผลของการทดสอบการทำงานของเครื่องเก็บตัวอย่างที่ได้พัฒนาขึ้น สามารถเก็บตัวอย่างจากการแยกของเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูงได้อย่างแม่นยำ และสามารถวนรอบการเก็บตัวอย่างได้โดยอัตโนมัติเพื่อเพิ่มปริมาณตัวอย่าง อีกทั้งยังสามารถบันทึกโครมาโทแกรมเพื่อเรียกดูย้อนหลังได้อีกด้วย
Download
|
แบบพิมพ์เซรามิกส์สำหรับกระบวนการจุ่มขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ
ผู้แต่ง:
นุชรีย์ ชมเชย
Download: 173 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาสูตรส่วนผสมที่เหมาะสมเพื่อใช้ผลิตแบบพิมพ์เซรามิกส์สำหรับกระบวนการจุ่มขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ มีวิธีดำเนินการ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ทดสอบสมบัติของสูตรดินผสม 10 สูตร โดยใช้แผนภาพตารางสามเหลี่ยมด้านเท่ากำหนดอัตราส่วนผสมวัตถุดิบ ดินขาว ไดอะตอมไมท์ และเบนโทไนต์ ขึ้นรูปชิ้นทดสอบด้วยวิธีหล่อน้ำดิน และเผาที่อุณหภูมิ 800°C ในบรรยากาศออกซิเดชัน ทดสอบสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางกลตามมาตรฐาน ASTM C 326-03 ASTM C 373-72 และ ASTM C 674-81 ทดสอบสีโดยใช้เครื่องวัดสีมินอลต้า วิเคราะห์องค์ประกอบและปริมาณทางแร่ด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ (X-ray Diffraction; XRD) และวิเคราะห์สมบัติโครงสร้างจุลภาคโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscopy; SEM) ขั้นตอนที่ 2 ทดสอบการใช้งานจริงโดยนำสูตรที่เหมาะสมขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผลการวิจัย พบว่า สูตรที่เหมาะสมที่จะใช้ผลิตแบบพิมพ์เซรามิกส์สำหรับกระบวนการจุ่มขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ประกอบด้วยดินขาว 53-58 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักไดอะตอมไมท์ 27-36 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก และเบนโทไนต์ 10-15 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีลักษณะพิเศษ คือ มีความพรุนตัว 41-45 เปอร์เซ็นต์ การหดตัว 0.7-1.0 เปอร์เซ็นต์ ปริมาตรของรูพรุนเปิด 11-16 ลูกบาศก์เซนติเมตร ค่าโมดูลัสของการแตกหัก 6-8 เมกะพาสคาล ผลการนำไปใช้งาน พบว่า แบบพิมพ์เซรามิกส์มีคุณสมบัติเด่นเรื่องน้ำหนักเบา ดูดติดน้ำยางได้ดี ชิ้นงานที่ขึ้นรูปจากแบบพิมพ์มีผิวเรียบ มีความหนาสม่ำเสมอ และถอดชิ้นงานออกจากแบบพิมพ์ได้ง่าย
Download
|
การสำรวจความต้องการและความพึงพอใจต่อโปรแกรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริม การเรียนรู้แบบนำตนเองสำหรับแพทย์ในหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขา/อนุสาขา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ผู้แต่ง:
รุ่งรัตน์ ผลสวัสดิ์
Download: 145 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการในการพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบนำตนเองและศึกษาผลการใช้โปรแกรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบนำตนเองสำหรับแพทย์ประจำบ้านสาขาและอนุสาขา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นการวิจัยในขั้นต้นโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจด้วยการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน จำนวน 32 คน โดยใช้สถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ข้อมูล และการหาคุณภาพของเครื่องมือด้วยค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ผลการศึกษาพบว่า แพทย์ประจำบ้านมีความต้องการสื่อในการเรียนรู้ประเภทของสื่อดิจิทัล โดยมีความต้องการสื่อประเภทวิดีโอมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.50 รองลงมาเป็น สื่อประเภทข้อความ คิดเป็นร้อยละ 21.88 และ สื่อประเภทสื่อประสม คิดเป็นร้อยละ 18.75 ส่วนความต้องการโปรแกรมเรียนรู้ ในด้านรูปแบบการเรียนรู้ที่สนใจ พบว่า มีความต้องการรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 34.27 รองลงมาเป็นรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล คิดเป็นร้อยละ 25 และรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 21.87 สำหรับความพึงพอใจที่มีต่อการใช้งานแอปพลิเคชัน การเรียนรู้ด้วยตนเองของแพทย์ประจำบ้าน ในด้านภาพรวม พบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ส่วนในรายด้านพบว่า ด้านสื่อ มีคะแนนอยู่ในอันดับสูงที่สุด โดยมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการสืบค้นข้อมูล ด้านการเรียนรู้ ด้านการค้นคว้า และด้านการฝึกฝน มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เช่นกัน
Download
|
วิเคราะห์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนอาจารย์พิเศษ ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2565
ผู้แต่ง:
สุธาสินี หินแก้ว
Download: 174 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. สภาพปัจจุบันการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนของอาจารย์พิเศษ 2. วิเคราะห์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนของอาจารย์พิเศษ และ 3. วิเคราะห์ภาระงานสอนของอาจารย์ประจำตามเกณฑ์ภาระงาน คณะทันตแพทยศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2565 การวิจัย พบว่า ชั่วโมงการสอนปีการศึกษา 2565 กลุ่มสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ มีค่าใช้จ่ายในการเชิญอาจารย์พิเศษมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มสาขาวิชาเวชศาสตร์ช่องปากและศัลยศาสตร์ และกลุ่มวิชาทันตกรรมป้องกันและทันตสาธารณสุขตามลำดับ โดยกลุ่มสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์มีชั่วโมงการสอนมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มสาขาวิชาเวชศาสตร์ช่องปากและศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก และสาขาวิชาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก จำแนกได้ว่ากลุ่มสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ สาขาวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ เชิญอาจารย์พิเศษมากที่สุด จำนวน 611 ชั่วโมง มีค่าตอบแทน 611,000 บาท กลุ่มสาขาวิชาเวชศาสตร์ช่องปากและศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก เชิญอาจารย์พิเศษ จำนวน 527 ชั่วโมง มีค่าตอบแทน 527,000 บาท และกลุ่มสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ สาขาวิชาทันตกรรมหัตถการ เชิญอาจารย์พิเศษ จำนวน 400 ชั่วโมง มีค่าตอบแทน 400,000 บาท หากอาจารย์ประจำสอนตามเกณฑ์ภาระงานสอน จำนวน 1,050 ชั่วโมงตลอดปีการศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเชิญอาจารย์พิเศษ จำนวน 2,904,000 บาท โดยมี 3 สาขาวิชา ที่มีภาระงานสอนมากกว่าเกณฑ์ภาระสอนที่กำหนดและสามารถเชิญอาจารย์พิเศษมาทำการสอนให้กับนิสิตได้ ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ สาขาวิขาทันตกรรมประดิษฐ์ กลุ่มสาขาวิชาเวชศาสตร์ช่องปากและศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก และสาขาวิชา
ทันตกรรมหัตถการ โดยมีงบประมาณการค่าตอบแทนอาจารย์พิเศษ จำนวน 1,170,000 บาท
Download
|
การศึกษาเทคนิคการสร้างเสียงภาษาไทยจากปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ผลิตสื่อมัลติมีเดีย
ผู้แต่ง:
กุลกานต์ สุทธิดารา, อลิษา แสงวิมาน, อาทิตยา บินฮาซัน
Download: 156 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence ) เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ซึ่งเทคโนโลยีการสร้างเสียงจากปัญญาประดิษฐ์ (Generate AI Voice) เป็นศาสตร์หนึ่งของ AI ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเสียงสังเคราะห์เลียนแบบเสียงพูดจริงของมนุษย์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและการทำงาน การสร้างเสียงจากปัญญาประดิษฐ์นั้นอาศัยเทคโนโลยี 2 ด้านหลัก คือ
(1) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP: Natural language processing) ร่วมกับ (2) เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงจากข้อความ (TTS: Text-to-Speech Synthesis) เพื่อแปลงข้อความจากตัวหนังสือให้เป็นเสียงพูดในภาษาต่าง ๆ ได้ โดยงานเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ใช้เสียงภาษาอังกฤษจาก AI ในงานผลิตสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งสามารถใช้แทนการอัดเสียงจากห้องสตูดิโอได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับการสร้างเสียงภาษาไทยจาก AI นั้นยังมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเสียงที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมชาติอยู่ เนื่องจากโครงสร้างทางภาษาไทยมีความซับซ้อนและไม่มีการเว้นช่องว่างระหว่างคำเหมือนภาษาอังกฤษ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคนิคการป้อนข้อความภาษาไทยในซอฟต์แวร์การสร้างเสียงจากปัญญาประดิษฐ์ (Generate AI Voice) ให้ได้เสียงพูดสังเคราะห์ที่แม่นยำและเป็นธรรมชาติ โดยมีกระบวนการ ดังนี้ 1) ศึกษารายละเอียดข้อมูลและวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการแปลงข้อความให้เป็นเสียงพูดเพื่อเลือกซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน และเนื้อหาที่ต้องการผลิตสื่อ 2) ทดลองป้อนเนื้อหาในซอฟต์แวร์ที่เลือกเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความถูกต้องของการออกเสียง และด้านความเป็นธรรมชาติของเสียง (จังหวะ ความเร็ว และการเว้นวรรค) ผลการศึกษาพบว่า จากการทดลองใช้เทคนิค ความถูกต้องของการออกเสียงและความเป็นธรรมชาติของเสียงดีขึ้นตามลำดับ ในการทดลองครั้งที่ 1 ความถูกต้องของการออกเสียงคิดเป็นร้อยละ 92 จนถึงครั้งที่ 30 คิดเป็นร้อยละ 100 และความเป็นธรรมชาติของเสียงปรับจากเสียงที่อ่านเร็วเกินไป และขาดจังหวะหายใจ มาเป็นเสียงที่จังหวะพอดีเข้ากับสื่อที่ผลิต ดังนั้นขั้นตอนการเตรียมพร้อมของข้อความก่อนที่จะป้อนลงซอฟต์แวร์เป็น สิ่งสำคัญ เช่น การเว้นวรรคคำใหม่ การใช้สัญลักษณ์พิเศษ การถอดอักษรเป็นคาราโอเกะสำหรับคำที่มีความซับซ้อนในการอ่าน โดยสามารถสรุปเป็นเทคนิคที่สำคัญในการการสร้างเสียงจาก AI เพื่อใช้ผลิตสื่อมัลติมีเดียได้ 8 ข้อ
Download
|
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการของบุคลากร สายสนับสนุนวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้แต่ง:
นวภัสร์ ปันใจ
Download: 141 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาระดับตัวแปรเจตคติต่อการผลิตผลงานทางวิชาการ การได้รับการสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ความสามารถของตนในการผลิตผลงานทางวิชาการ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ลักษณะงานที่ทำ และความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการ 2. ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการ และ 3. ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตผลงานทางวิชาการของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ จำนวน 85 คน โดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพื้นฐานและการวิเคราะห์อิทธิพลด้วยเทคนิคการประมาณค่าภาวะน่าจะเป็นสูงสุด ผลการวิจัยพบว่า ในภาพรวมบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการมีเจตคติต่อการผลิตผลงานทางวิชาการ การได้รับการสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ความสามารถของตนในการผลิตผลงานทางวิชาการ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และลักษณะงานที่ทำอยู่ในระดับมาก ส่วนความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ พบว่าลักษณะงานที่ทำเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการ โดยมีขนาดอิทธิพลรวมเท่ากับ 0.43 ขณะที่ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การรับรู้ความสามารถของตนในการผลิตผลงานทางวิชาการ เจตคติต่อการผลิตผลงานทางวิชาการ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน พบว่ามีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการผลิตผลงานทางวิชาการในลำดับรองลงมาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีขนาดอิทธิพลรวมเท่ากับ 0.35, 0.27, 0.12 ตามลำดับ
Download
|
การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้แต่ง:
จุฑามาศ ทินกรวงศ์
Download: 150 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. พัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณสำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีประสิทธิภาพ 2. เพื่อเปรียบเทียบความรู้และความเข้าใจของบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนและหลังการศึกษาระบบบริหารจัดการงบประมาณ โดยใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แบบทดสอบก่อนและหลังการศึกษา และแบบความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเนื้อหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และการทดสอบค่า t-test ผลการศึกษาพบว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 92.66/100 เป็นไปตามสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้ คือ 90/ 90 และผู้ใช้งานมีคะแนนหลังการศึกษาในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การใช้งานระบบบริหารจัดการงบประมาณ สำหรับบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ สูงกว่าคะแนนก่อนการศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
Download
|
ความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้แต่ง:
นูรฮัม ฮะซา, พิภัตน์ เผ่าจินดา
Download: 287 ครั้ง
|
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างปีพ.ศ. 2564-2566 2) เพื่อศึกษาความคาดหวังของผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility ระหว่างปีพ.ศ. 2564-2566 ต่อการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้เข้าร่วมโครงการ PSU Open Mobility จำนวน 14 โครงการย่อยที่จัดขึ้นระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 จำนวน 1,616 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งมีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 1 โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) ข้อมูลทั่วไปของผู้เข้าร่วม 2) ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมต่อการจัดโครงการ PSU Open Mobility และ 3) ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมต่อการส่งเสริมความเป็นนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70.70 มีสถานภาพเป็นนักศึกษา ร้อยละ 89.99 มีช่วงอายุระหว่าง 18-23 ปี ร้อยละ 48.80 และมีระดับการศึกษาสูงสุด คือ ปริญญาตรี ร้อยละ 80.12 ซึ่งตรงตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ 2) ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมต่อการจัดโครงการ PSU Open Mobility มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564-2566 โดยมีค่าเฉลี่ยในปีพ.ศ. 2564 คือ (µ=4.51, σ=0.16) ในปีพ.ศ. 2565 คือ (µ=4.64, σ=0.18) และในปีพ.ศ. 2566 คือ (µ=4.64, σ=0.13) และ 3) ความคาดหวังของผู้เข้าร่วมต่อการส่งเสริม ความเป็นนานาชาติของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอให้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมนานาชาติภายในมหาวิทยาลัยมากที่สุด ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2566 คิดเป็นร้อยละ 30.20 ในปีพ.ศ. 2564 ร้อยละ 23.88 ในปีพ.ศ. 2565 และร้อยละ 16.91 ในปี พ.ศ. 2566
Download
|
ดูรายการทั้งหมด |